วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

เชียงคาน



ประวัติความเป็นมาเมืองเชียงคานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศลาว ซึ่งสร้างโดยขุนคาน โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักร ล้านช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นสองอาณาจักรคือ อาณาจักร หลวงพระบาง ซึ่งมีพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรเวียงจันทน์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาเขตหลวงพระบาง และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาเขตเวียงจันทน์ ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่านและทางเวียงจันทน์ได้ตั้งเมืองเชียงคาน

เดิมเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ได้จึงได้อันเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย และได้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองไปขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทยโดยยกกำลังจากเวียงจันทน์มายึดเมืองนครราชสีมา แต่ในที่สุดเจ้าอนุวงค์ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงมายังเมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุลเครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองเชียงคาน ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก

ครั้งต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคานหรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่ ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี 2548 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ประโยชน์และโทษของช็อคโกแลต




"ช็อคโกแลต" ของหวานยอดนิยมตลอดปีไม่มีตกยุค โดยเฉพาะเทศกาลแห่งความสุขทั้งคริสต์มาส ปีใหม่ หรือวาเลนไทน์ ใครๆ ต่างก็นิยมลิ้มรสหอมละมุนหวานละไมของช็อคโกแลตเป็นการใหญ่ แม้ความขมของโกโก้ที่ซ่อนอยู่ในความหวานของช็อคโกแล็ตมีสารสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเราอยู่ไม่น้อย แต่หากบริโภคอย่างไม่บันยะบันยังส่งผลร้ายให้ร่างกายก็เป็นได้

เทศกาลแห่งความสุขเริ่มขึ้นทีไร สารพัด "ช็อคโกแลต" ต้องเข้าไปมีเอี่ยวด้วยทุกที แต่เพราะความหวานจับจิตของน้ำตาลและความมันเนยของนมที่ผสมผสานกับโกโก้ ทำให้หลายคนพรั่นพรึงกับโรคอ้วนมากกว่าจะนึกถึงคุณประโยชน์อื่นที่ซุกซ่อนอยู่ในช็อคโกแลต ซึ่งนักวิทยาหลายสำนักที่สนใจค้นหาความลับของช็อคโกแลตก็พบว่าในขนมหวานสีน้ำตาลดำชนิดนี้มีคุณค่านานาแฝงอยู่ในความอร่อยสุดลึกล้ำ

เมล็ดโกโก้ (cacao) เป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกปรุงแต่งด้วยนม น้ำตาล และส่วนผสมอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในรสชาติให้กับนานาช็อคโกแลต แต่ที่รู้จักกันดีก็มีช็อคโกแลตนม (milk chocolate) หวานมันกลมกล่อม, ช็อคโกแลตดำ (dark chocolate) เข้มเต็มรสชาติโกโก้ และ ช็อคโกแลตขาว (white chocolate) ที่มีแต่โกโก้บัตเตอร์ (cocoa butter) หรือไขมันโกโก้ แต่ไม่มีเนื้อโกโก้ (cocoa solids)

นอกจากรสชาติหอมหวานชวนลิ้มลองแล้ว ช็อคโกแลตยังมีเสน่ดึงดูดเหล่านักวิจัยให้ค้นหาความลับที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความอร่อยนี้มานานนับพันปี

ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่มากมายในเมล็ดโกโก้ เป็นยาวิเศษขนานหนึ่งที่ทำให้คนที่กินช็อคโกแลตอยู่ห่างไกลจากโรคหัวใจและมะเร็งได้ ซึ่งศาสตราจารย์โรเจอร์ คอร์เดอร์ (Roger Corder) นักวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ วิจัยแล้วพบว่าในช็อคโกแลตดำมีสารโกโก้ฟาโวนอยด์ (cocoa flavonoids) สูงกว่าช็อคโกแลตอื่นๆ

สารโกโก้ฟาโวนอยด์ช่วยส่งเสริมระบบไหลเวียนโลหิต เสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดให้ยืดหยุ่นและแข็งแรง ป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ความดันโลหิตสูง และหัวใจวาย

นอกจากนี้ในช็อคโกแลตยังอุดมด้วยกรดอะมิโนทริปโตแฟน (tryptophan) ซึ่งใครก็ตามที่กินช็อคโกแลตเข้าไป ทริปโตแฟนจะไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข "เซโรโทนิน" (serotonin) ออกมาละลายความตึงเครียดให้มลายหายไปและแทนที่ด้วยความรู้สึกสุขสดชื่น

งานวิจัยของศาสตราจารย์คาร์ล คีน (Prof. Carl Keen) และคณะจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในเมืองดาวิส (University of California at Davis) สหรัฐฯ ทดลองให้อาสามัคร 30 คน ดื่มเครื่องดื่มทุกชนิด ได้แก่ น้ำ, โก้โก้ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยดื่มครั้งละ 1 ชนิด ในช่วงเวลาต่างกันตามที่กำหนด และต้องเจาะเลือดออกมาตรวจทุกครั้งทั้งก่อนและหลังดื่ม

พบว่าทุกครั้งหลังจากดื่มโกโก้ เกร็ดเลือด (Platelet) ของอาสาสมัครทุกคนจับตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนน้อยกว่าเมื่อดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มคาเฟอีนชนิดอื่น แสดงว่าโกโก้สามารถป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มจนทำให้เส้นเลือดตีบตัน จึงช่วยลดภาวะเส้นเลือดอุดตันและสดความเสี่ยงหัวใจวายกระทันหันได้

ส่วน ดร.ไบรอัน เราเดนบุช (Dr. Bryan Raudenbush) จากมหาวิทยาลัยวีลลิง เยซูอิต (Wheeling Jesuit University) เวสต์ เวอร์จิเนีย สหรัฐฯ เปิดเผยความลับของช็อคโกแลตว่าเป็นแหล่งของสารกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าทุกครั้งที่กินชอคโกแลตเข้าไป เช่น ทีโอโบรมีน (theobromine), ฟีนีไทลามีน (phenethylamine) และคาเฟอีน (caffeine)

ดร.เราเดนบุช ทดลองใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์วัดการสั่งงานของสมองและทดสอบปฏิกิริยาต่างๆ ของอาสาสมัครที่กินช็อคโกแลตดำ, ช็อคโกแลตนม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้กินอะไรเลย ก็พบว่ากลุ่มที่กินช็อคโกแลตมีปฏิกิริยาตอบสนองดีกว่า โดยเฉพาะกลุ่มที่กินช็อคโกแลตนมจะตอบสนองในส่วนของความจำได้ดีกว่ากลุ่มอื่น

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของงานวิจัยมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของช็อคโกแลต และคงทำให้หลายคนที่พิศมัยในความหอมหวานของช็อคโกแลตรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันทีเมื่อรู้ว่าขนมหวานสุดโปรดปรานนี้ไม่ได้มีดีแค่ความอร่อยอย่างเดียว แต่ยังมากคุณค่าของสารสำคัญที่มีประโยนช์ต่อร่างกายและป้องกันโรคภัยหลากชนิด

แต่ช้าก่อน! อย่าเพิ่งด่วนดีใจจนโหมกินช็อคโกแลตต่างข้าวเด็ดขาด เพราะช็อคโกแลตที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปไม่ว่าจะถูกหรือแพง ล้วนมีไขมันและน้ำตาลเป็นตัวชูโรงร่วมกันกับโกโก้ ซึ่งหากบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัด มีหวังประโยชน์ของช็อคโกแลตคงจะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นโทษเสียมากกว่า เพราะไขมันและน้ำตาลที่ช่วยเพิ่มความอร่อยในช็อคโกแลตอาจกลายเป็นส่วนเกินเมื่อเข้ามาอยู่ในร่างกายของเราดังที่ทราบกันดีว่าจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้ทดลองให้กลุ่มบุคคลที่แข็งแรงแต่สูบบุหรี่กินช็อคโกแลตต่างชนิดกันเป็นประจำทุกวัน วันละ 40 กรัม ติดต่อกันในระยะเวลาที่กำหนด และควบคุมไม่ให้ได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากแหล่งอาหารอื่นๆเลย

กลุ่มบุคคลเหล่านี้ล้วนเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตัน แต่ภายหลังการทดลองทีมวิจัยพบว่ากลุ่มที่กินช็อคโกแลตดำ ซึ่งมีเนื้อโกโก้อยู่ 74% มีระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้นและดีกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มที่กินช็อคโกแลตขาวกลับไม่มีผลอันใดเลย พวกเขาจึงสรุปว่า กินช็อคโกแลตดำวันละนิดช่วยให้จิตผ่องใสและห่างไกลจากโรคภัยได้

ดังนั้น หากจะกินช็อคโกแลตแล้วให้ได้ประโยชน์มากกว่าโทษ ก็ควรจะเลือกช็อคโกแลตที่มีส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลต่ำแต่มีปริมาณโกโก้สูง นัยหนึ่งก็หมายถึง "ช็อคโกแลตดำ" นั่นเอง ซึ่งปริมาณโกโก้มากกว่าเป็นเครื่องการันตีว่าจะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากกว่าด้วย โดยเฉพาะฟลาโวนอยด์ที่มีบทบาทสำคัญในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงต่อเส้นเลือดหัวใจอุดตัน

ถ้ากินช็อคโกแลตดำวันละ 100 กรัม เป็นประจำทุกวัน จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงได้ แต่หากเป็นช็อคโกแลตนม ช็อคโกแลตขาว หรือเครื่องดื่มช็อคโกแลตดำแต่มีส่วนผสมของนมอยู่ด้วย จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพลดน้อยลงตามส่วนผสมของโกโก้ที่ลดลงหรือนมและน้ำตาลที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ผงโกโก้ที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยอัลคาไล (alkali) สารฟลาโวนอยด์ส่วนใหญ่ก็จะถูกทำลายไปด้วย

แม้ว่าในช็อคโกแลตจะอุดมไปด้วยไขมัน แต่ 2 ใน 3 ของไขมันที่มีอยู่ในช็อคโกแลตเป็นไขมันอิ่มตัวที่เรียกว่า สเตียริก (stearic acid) และไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่งชนิดโอเลอิก (oleic acid) ซึ่งสเตียริกนี้จะไม่ไปช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL cholesterol) ในกระแสเลือด ฉะนั้นจึงหมดห่วงไปได้อีกเปราะหนึ่ง

แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีไขมันอีก 1 ส่วนที่อาจไม่เป็นผลดีกับร่างกาย ดังนั้นเมื่อกินช็อคโกแลตแล้วก็ต้องกินอาหารอื่นที่มีประโยชน์ สามารถลดการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีได้ รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยส่งเสริมกันให้ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นอย่างดี