วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แกะรอย"อาถรรพ์"แก่งกระจาน"โศกนาฏกรรม"เฮลิคอปเตอร์-แบล็กฮอว์กตก


ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หลังจากส่วนหัวเครื่องเฮลิคอปเตอร์ รุ่น ยูเอช-1 เอช (ฮิ้วอี้) ตกในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ขณะบินเข้าไปรับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนที่ยังตกค้างอยู่ในป่า หลังจากเข้าไปปฏิบัติภารกิจกวาดล้างชนกลุ่มน้อยที่เข้ามาทำลายต้นไม้แล้วมีผู้เสียชีวิตถึง 5 คน ล่าสุดเฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์ก ที่เข้าไปช่วยเหลือก็มาตกซ้ำอีกรอบ เกิดอะไรขึ้นหลังโศกนาฏกรรมในการสูญเสียบุุคลากรชั้นยอดของประเทศไทย ไทยรัฐออนไลน์รวบเหตุการณ์ที่ว่ากันว่าเป็นอาถรรพ์ของที่แห่งนี้...???

อาถรรพ์แรก - ตามหาศีรษะไม่พบเฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไม่ได้

อาถรรพ์นี้ถูกกล่าวขานกันมากมาย โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ 4 หลังจากทหารหน่วย ฉก.ทัพพระยาเสือ กองพล ร.9 เข้าไปลำเลียงศพทหารทั้ง 5 นาย ออกมาจากเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีรายงานว่า สภาพที่ความสูญเสียที่เห็นนั้น พบซากเฮลิคอปเตอร์สภาพส่วนหัวชนเสียบคาผนังหิน ต่ำจากยอดเขาเพียง 10 เมตรเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีร่องรอยการเผาไหม้ในรัศมี 10 เมตร ด้วยการปะทะอย่างแรงทำให้เกิดการระเบิดและมีเพลิงลุกไหม้อีกด้วย
ด้านสภาพของลูกเรือที่โดยสารมาทั้งหมด 5 นายถูกเผาไหม้ดำเป็นตอตะโก หนึ่งใน 5 ศพนั้นคาดว่ายังไม่เสียชีวิตทันที ส่วนอีก 4 ศพ ร่างติดคาซากเครื่อง บางศพเหลือเพียงกระดูกเท่านั้น และยังมีอยู่ 1 ศพที่ไม่สามารถหาศีรษะพบ
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เผยเรื่องลี้ลับก่อนขึ้น ฮ.ว่า ได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นกับตัวเองและคณะผู้สื่อข่าวในระหว่างที่เฝ้ารอให้อากาศเปิดอยู่ในป่า ใกล้จุดเกิดเหตุ เนื่องจากตนมีลางสังหรณ์ ที่เป็นเรื่องของความเชื่อของคนที่อยู่กับป่ามาตลอด

"ขณะที่ผมเข้าไปในที่เกิดเหตุครั้งแรก เห็นศพศพหนึ่งไม่มีศีรษะ อาจจะเป็นเรื่องทางไสยศาสตร์ ที่หากค้นหาชิ้นส่วนของศพไม่ครบ ก็จะทำให้ไม่สามารถนำศพออกมาได้ทั้งหมด ด้วยการเกิดอุปสรรคต่างๆ เช่น การนำ ฮ.เข้าพื้นที่ ดังนั้นผมจึงวิทยุสั่งให้ค้นหาให้เจอในที่สุด เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถหาพบก็เกิดเรื่องประหลาด โดยเมื่อตอนที่ยังไม่สามารถค้นหาศีรษะ ส่วนที่หาไปเจอได้เกิดฝนตกตรงจุดเกิดเหตุ และอากาศปิดมาตลอด แต่พอเจ้าหน้าที่วิทยุมาบอกกับตนว่าพบศีรษะแล้ว สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงดีขึ้นทันที เรื่องนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ และน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะทำให้การปฏิบัติในครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้"
อาถรรพ์ - ปักธูปไม่ลง

เรื่องนี้เกิดขึ้นขณะ พ.ต.ประพันธ์ เจียมสูงเนิน นักบินที่ 1 ประจำเครื่องแบล็กฮอว์ก พร้อมทหารจากกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 9 กองพลทหารราบที่ 9 ได้จุดธูปไหว้เจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิต ให้ดลบันดาลการปฏิบัติภารกิจนำศพ 5 ทหารออกมาจากฐานต้นน้ำเพชร สำเร็จลุล่วงด้วยดี แต่ทั้งหมดไม่สามารถปักธูปลงบนพื้นดินได้ ต้องเปลี่ยนอยู่หลายจุด จึงจะสามารถปักธูปได้ก็เป็นอีกเรื่องที่ถูกพูดถึง

อาถรรพ์ - พูดเป็นลาง

"ผมจะเดินทางไปด้วยตัวเอง เพื่อนำน้องๆ ผู้ประสบเหตุทั้ง 5 คน กลับมาให้ได้ภายในวันนี้" คือคำพูดของ พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ.พล.ร.9 ผู้นำทีมขึ้นแบล็กฮอว์ก และที่น่าแปลกอีกก็คือ พล.ต.ตะวัน นับเป็น ผบ.พล ร.9 คนที่ 2 ที่ประสบอุบัติเหตุ ฮ.ตก เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 43 พล.ต.สัญชัย รัชตะวรรณ ประสบอุบัติเหตุ ฮ.ตกและเสียชีวิตที่บ้านท่ามะนาว อ.เมืองกาญจนบุรี

นอกจากนี้ ยังมีคำพูดก่อน-หลังขึ้นเครื่อง ที่ถูกเปิดเผยในทำนองหยอกล้อกันว่า "ไม่ต้องกลัวเครื่องตก" หรือ "เครื่องไม่ตกหรอก" เป็นต้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจพูดก็ตาม แต่คำพูดทำนองนี้โบราณเขาถือกัน

อาถรรพ์เจ้าป่า เจ้าป่าเซ่นสังเวย เวลาหยุดพักกินอาหาร

เรื่องการพิธีเปิด-ปิดป่าก็มีการพูดถึง นายพยัพ คำพันธุ์ เซียนพระเครื่องและเครื่องรางชื่อดัง และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเดินป่าให้ความรู้เรื่องการทำพิธีเปิดป่าแบบ "ฉบับโบราณ" ผ่านไทยรัฐออนไลน์ ว่า การเดินป่าทุกๆ ครั้งต้องทำพิธีเปิดป่าด้วยการจุดธูป 9 ดอก พร้อมกับอธิฐานขอให้เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา ผีเหย้า ผีเรือน เจ้าของที่ เจ้าของทาง ลูกขอเปิดป่า ถ้าหากลูกทำผิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามแต่ ขอกราบ ขอขมาไว้ ณ ที่นี้ด้วย แล้วก็กลั้นใจเอามีดทิ่มดินแล้วก็พลิกดินขึ้นมา 3 ครั้ง พร้อมกับพลิกใบไม้ทั้งสด-แห้งที่ตกอยู่ข้างๆ ให้จับหงายขึ้นมาให้หมด

ส่วนพิธีปิดป่าเมื่อเราทำภารกิจเดินป่าเสร็จแล้วก็ต้องนำดินที่พลิกขึ้นมาแล้วใบไม้ที่เราจับพลิกปิดเอาไว้อย่างเดิม นี่กรณีเราเดินออกมาทางเดิม แต่ถ้าเดินออกจากป่าอีกด้านหนึ่งก็ยกมือไหว้บอกเล่าและขอขมาเจ้าป่าธรรมดา
"แต่หากไม่มีธูปเทียน ก็สามารถหักกิ่งไม้แห้งที่อยู่บริเวณนั้น อธิฐานและปักกิ่งไม้เอาไว้ หลังจากนั้นก็นำมีดทิ่มดิน 3 ครั้ง แล้วก็พลิกใบไม้ทั้งสดและแห้งบริเวณนั้นเป็นอีกด้านหนึ่งด้วย เรื่องแบบนี้พูดไปไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะว่าป่าทุกๆ ป่า กระเหรี่ยงและชาวเขาเขาทำพิธีโบราณแบบนี้เพื่อป้องกันตัวเองทั้งหมด" พยัพ กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องเวลาหยุดพักรับประทานอาหาร พรานหลายคนก็แนะนำว่าจะต้องแบ่งอาหารส่วนหนึ่งใส่ใบไม้ถวายเจ้าป่าเจ้าเขาและบรรดาผีป่าผีดงทั้งหลาย เป็นการแสดงความคารวะตามประสาผู้มาเยือนที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือช่วยคนเดินป่าให้เกิดความรู้สึกสบายใจ เพราะได้กระทำถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแล้ว ไม่ได้ละเมิดหรือดูหมิ่นดูแคลนแต่อย่างใด
หากมีการล่าสัตว์ พรานอาจจะตัดเนื้อสัตว์ที่ล่าได้ส่วนหนึ่งวางไว้ในที่อันควร เพื่อเป็นการถวายแต่เจ้าป่าเจ้าเขา พรานสมัยก่อนจะล่าสัตว์และตัดไม้เท่าที่มีความจำเป็นสำหรับเลี้ยงชีพเท่านั้น ไม่ใช่ตัดเหี้ยนไปหมดจนแทบจะสูญพันธุ์เหมือนอย่างวันนี้

ขณะเดียวกัน ฟากโหราศาสตร์ยังมีการพูดถึงดาวอังคาร ที่ถือว่าเป็นดาวทหารจะมีการสูญเสียจากเครื่องยนต์กลไกขัดข้อง หรือแม้กระทั่งดวงของคนที่เสียชีิวิตชุดแรกมีเข้าเคราะห์แทบจะทุกคน ดังนั้นเมื่อคนมีเคราะห์มาอยู่่รวมกันมากๆ ก็เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ส่วนเรื่องฮวงจุ้ยหรือชัยภูมิที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีนั้น ก็มีการกล่าวขานกันมากว่า ลักษณะคล้ายกับความอาถรรพ์ของ "สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า" แต่ก็ยังไม่มีใครออกมาการันตีข้อมูลนี้


สุดแล้วเหนืออื่นใด ไม่ว่าหลังจากนี้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้ทุกๆ คนรู้ว่าคนไทยทั้งประเทศกำลังนั่งภาวนาส่งกำลังใจไปช่วยเหลือแน่นอน!!!

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดอกทิวลิป




ทิวลิป เป็นดอกไม้เมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของฮอลแลนด์ มีอยู่หลายสี ดอกทิวลิปจะปลูกได้
ต้องใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม คือไม่เกิน 25 องศาเซลเซียสแม้ว่าทิวลิปจะเป็นดอกไม้ที่ทำให้นึกถึงฮอลแลนด์ แต่ทั้งดอกไม้และชื่อมีที่มาจากจักรวรรดิเปอร์เชีย ทิวลิปหรือ “lale” (จากเปอร์เชีย لاله, “lâleh”) เช่นเดียวกับที่เรียกกันในตุรกี เป็นดอกไม้ท้องถิ่นของตุรกี, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และบางส่วนของเอเชียกลาง แม้ว่าจะไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้นำทิวลิปเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของยุโรปแต่ที่สำคัญคือตุรกีเป็นผู้ทำให้ทิวลิปมีชื่อเสียงที่นั่น เรื่องที่เป็นที่ยอมรับกันก็คือ Oghier Ghislain de Busbecqไปเ ป็นราชทูตของสมเด็จพระจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนักของสุลต่านสุลัยมานมหาราชแห่งจักรวรรดิออตโตมันในปี ค.ศ. 1554 Busbecq บรรยายในจดหมายถึงดอกไม้ต่างๆ ที่เห็นที่รวมทั้งนาร์ซิสซัส ดอกไฮยาซินธ์ และทิวลิปที่ดูเหมือนจะบานในฤดูหนาวที่ดูเหมือนผิดฤดู (ดู Busbecq, qtd. in Blunt, 7) ในวรรณคดีเปอร์เชียทั้งสมัยโบราณและสมัยใหม่ต่างก็ให้ความสนใจกับดอกไม้ชนิดนี้



คำว่า “tulip” ที่ในภาษาอังกฤษสมัยแรกเขียนเป็น “tulipa” หรือ “tulipant” เข้ามาในภาษาอังกฤษจากฝรั่งเศสที่แผลงมาจากคำว่า “tulipe” และจากคำโบราณว่า “tulipan” หรือจากภาษาลาตินสมัยใหม่ “tulīpa” ที่มาจากภาษาตุรกี “tülbend” หรือ “ผ้ามัสลิน” (ภาษาอังกฤษว่า “turban” (ผ้าโพกหัว) บันทึกเป็นครั้งแรกในภาษาอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และอาจจะมาจากภาษาตุรกีอีกคำหนึ่งว่า “tülbend” ก็ได้)