วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

ประเพณีวันไหล


วันไหล : คือ วันทำบุญขึ้นปีใหม่ของชาวทะเล โดยกำหนดหลังวันมหาสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน เดิมเรียกว่า ประเพณีก่อ
พระทรายน้ำไหล วัดใดอยู่ใกล้แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงในบริเวณนั้น ก็จะจัดประเพณีขึ้นโดยชาวบ้านจะช่วยกันชนทรายตามชายหาดใกล้ ๆ เข้าวัด ทำให้วัดนั้น ๆ ได้รับประโยชน์ในการใช้ทรายก่อสร้างเสนาสนะและปูชนียสถานในวัด หรือถมบริเวณวัด


วันก่อพระทรายน้ำไหล เป็นวันที่ชาวบ้านขนทรายมาเข้าวัด เพื่อก่อเป็นรูปกรวยเล็ก ๆ เพื่อให้ครบ 84,000 กอง เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ เจดีย์ทรายตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงประดับด้วยดอกไม้ และธงต่าง ๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา มีการละเล่นพื้นเมืองเพื่อความสามัคคีและสนุกสนานรื่นเริง มีการทอดผ้าป่า ทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในเทศกาลตรุษไทย และจัดเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมงานด้วย ปัจจุบันสภาพบ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การขนทรายเข้าวัดดังเช่นในอดีตที่เคยใช้การหาบเข้ามาก็เปลี่ยนเป็นบรรทุกใส่ รถยนต์แทน เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว วัดหลายวัดจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะใช้ทรายที่ถูกซัดมารวมที่ คู หนอง คลอง บึง ประกอบกับสถานที่ดังกล่าวเกิดสภาพตื้นเขิน งานก่อพระทรายจึงเปลี่ยนไป และเรียกกันง่าย ๆ ว่า วันไหล หรือ ประเพณีวันไหล
จังหวัด ชลบุรี

ได้จัดงานวันไหลและส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณชายหาดบางแสน และชายหาดพัทยา ขึ้นประมาณวันที่ 17-18 เมษายน ของทุกปี ในเทศกาลวันไหลจะมีการจัดกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ การทำบุญใส่บาตร การสรงน้ำพระพุทธรูป การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ การก่อพระเจดีย์ทราย การแข่งขันกีฬาพื้นเมือง การแข่งขันด้านอาชีพ ฯลฯ นอกจากนี้สุภาพสตรีคนใดที่มาร่วมงานด้วยการแต่งกายแบบไทยก็จะมีแมวมองส่ง เข้าประกวดขวัญใจงานวันไหล โดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งสามารถสร้างความสนใจในหมู่ชาวไทย และชาวต่างประเทศได้อย่างดียิ่ง ในปี พ.ศ. 2540 การจัดงานประเพณีวันไหลชายหาดบางแสนได้เปลี่ยนชื่องานเป็น งานก่อพระทรายวันไหลบางแสน นับเป็นประเพณีท้องถิ่นที่ทรงคุณค่าและควรแก่การอนุรักษ์ไว้